คนพิการเตรียมเฮ!! จุรินทร์ เคาะแก้ระเบียบบอร์ด “อำนวยความสะดวก-เข้าถึงสิทธิ เพิ่มจำนวนผู้ดูแล”

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชิวิตคนพิการแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.65 ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาแก้ไขระเบียบ กพช. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ และเพิ่มการคุ้มครองสิทธิคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแลและสิทธิของผู้ดูแลคนพิการ โดยที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ได้สั่งการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาการลดขั้นตอนในการเข้าถึงสิทธิการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และการสนับสนุนการทำงานของผู้ดูแลคนพิการ

ทั้งนี้ กพช.ได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขระเบียบ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ
1. เพิ่มช่องทางการยื่นคำขอการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การขอคุ้มครองสิทธิ โดยสามารถแจ้งต่ออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ประธานชุมชนองค์กรเอกชน หรือหน่วยบริการในพื้นที่ และสามารถยื่นคำขอหรือทำการแจ้งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้นและสะดวกกว่าเดิมอย่างมาก
2. เพิ่มหน่วยงานในการฝึกอบรมผู้ช่วยคนพิการ โดยได้รับอุดหนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้ช่วยคนพิการมากขึ้น สอดรับความต้องการที่จำเป็นของคนพิการ
3. ผู้ช่วยคนพิการสามารถปฏิบัติงานเป็นรายชั่วโมงหรือรายวันตามความต้องการของคนพิการ เพื่อให้ผู้ช่วยคนพิการสามารถดูแลคนพิการตามความต้องการของคนพิการอย่างถูกต้อง

4. ส่งเสริมการจัดหาครอบครัวอุปการะ โดยให้มีค่าตอบแทน เพื่อให้คนพิการมีครอบครัวดูแล และลดจำนวนคนพิการที่เข้าสู่สถานสงเคราะห์
5. สนับสนุนให้มีสถานคุ้มครองเอกชนที่รับอุปการคนพิการที่ไม่มีคนดูแล
6. เพิ่มสิทธิของผู้ดูแลคนพิการ อาทิ การได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร หรือเครื่องช่วยอุปกรณ์ที่จำเป็น การบริการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ด้านถูกกระทำความรุนแรงหรือการแก้ไขปัญหาครอบครัว รวมถึงช่วยเหลือคนพิการและผู้ดูแลคนพิการเป็นเงินหรือสิ่งของการเข้าพักในศูนย์พักพิง กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ

นางสาวรัชดากล่าวว่า นายจุรินทร์ ได้ขอบคุณทุกภาคส่วน ผู้แทนจากสมาคมคนพิการต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันพิจารณาปรับแก้ระเบียบดังกล่าว ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการที่อยู่ในชุมชน ขาดคนดูแล อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ช่วยคนพิการให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่และด้วยความภาคภูมิใจ