5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’

วันนี้ เมื่อ 162 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของประเทศไทย

ถนนเจริญกรุง ถูกดำริให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยเหตุที่มีชาวต่างชาติ ได้เข้ามาทำธุรกิจห้างร้าน รวมถึงที่ทำการกงสุลต่าง ๆ ก็ถูกก่อสร้างขึ้นในย่านนี้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้ขอให้สร้างถนนสายสำหรับขี่ม้า หรือนั่งรถม้า พระองค์จึงทรงดำริให้มีการสร้างถนนที่มีมาตรฐานขึ้น แล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. 2407

แรกเริ่มเดิมที ผู้คนเรียกถนนสายนี้ว่า ‘ถนนใหม่’ ส่วนฝรั่งเรียกว่า ‘นิวโรด’ (New Road) และชาวจีนเรียกว่า ซินพะโล้ว แปลว่า ถนนตัดใหม่ เช่นกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

ถนนเจริญกรุงในยุคก่อน ได้ชื่อว่าเป็นถนนที่ใหญ่และยาวที่สุด โดยแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ถนนเจริญกรุงตอนใน ตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) และถนนเจริญกรุงตอนใต้ ตั้งแต่สะพานเหล็กออกไปนอกกำแพงพระนคร ต่อเนื่องไปถึงตลาดน้อย บางรัก จรดดาวคะนอง (ในปัจจุบัน)

เมื่อมีถนนหลักใหม่และงดงาม จึงนำมาซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างอาคาร ห้างร้าน บ้านเรือน ไปตลอดแนวถนน ต่อมามีการติดไฟฟ้านำทางส่องสว่าง และด้วยความสวยงามของท้องถนน ผู้คนจึงรู้จักที่จะออกมาใช้ชีวิตในยามค่ำคืนกันมากขึ้น จนเป็นที่มาของถนนที่ได้ชื่อว่า เป็นถนนที่ไม่มีวันหลับใหล ตราบจนทุกวันนี้ ‘เจริญกรุง’ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน แม้สองข้างทางจะเก่าแก่ไปตามกาลเวลา แต่จิตวิญญาณของถนนที่ได้ชื่อว่า เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ก็ยังคงปรากฏอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง