ดันฮาลาล สร้างโอกาสใหม่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานเส้นทางโค เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและสร้างความเป็นอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดน ปี พ.ศ. 2566 ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการศึกษากึ่งวิจัย จากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ตลาดนัดโคกระบือบ้านเชียงหวาง จังหวัดยโสธร มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน หัวหน้าโครงการและหัวหน้าคณะศึกษาดูงาน ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และตัวแทนผู้ประกอบการจากพื้นที่ชายแดนใต้ โดยจะเชื่อมต่อกับการพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโค และปศุสัตว์ อื่นๆในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไป

.

นางสาวดาวริน สุขเกษม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภาคใต้เปิดเผยว่า "เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food) ทวีความสำคัญขึ้น กระทั่ง สามารถขยับจากการเป็นตลาดโลกได้ เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งตลาดในตะวันออกกลาง ยุโรป จีนและประเทศแถบนูซันตารา หรือแถบมลายู อินโดนีเซีย มีผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เป็นโอกาสให้รัฐบาลไทยควรส่งเสริมการผลิตสินค้า อาหาร ผลิตภัณฑ์แปรรูป และธุรกิจด้านฮาลาล โดยเร่งด่วน

สินค้าฮาลาล มีความสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลก และกระแสบริโภคอาหารปลอดภัย ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19

.

ทั้งนี้คาดหมายในอนาคตว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะเติบโตขึ้นอีก20% ซึ่งประเทศไทยมีมุสลิมอยู่จำนวนเพียง 10 % เทียบกับประชากรทั้งหมด แต่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลก ทั้งยังมีชื่อเสียงแหล่งผลิตอาหารชื่อดัง เรามีอาหารเมนูที่มากมาย ซึ่งขึ้นชื่ออันดับต้นๆให้โลกได้รู้จัก เช่นเมนูต้มยำกุ้ง ผัดไทย ข้าวเหนียวมะม่วง ทุเรียน และอื่นๆ ด้านเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ทันสมัย ผู้ประกอบการสินค้าอาหารในไทยทุกภูมิภาคจึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปสู่ตลาดดังกล่าว"

.

ผศ.ดร. ทวนธง ครุฑจ้อน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ หัวหน้าโครงการฯ เล่าถึงงานนี้ว่า "การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานครั้งนี้ หลักๆคือเส้นทางการค้าโคหรือวัวพันธ์ุ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและสร้างความเป็นอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วัตถุประสงค์หลักคือ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่าของระบบการผลิตปศุสัตว์ โดยอาศัยการศึกษาเชิงพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรทำปศุสัตว์อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคและระบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากโคอย่างเป็นระบบมีมาตรฐาน และโอกาสด้านตลาดฮาลาลในภาคอีสานอีกด้วย เส้นทางการศึกษาดูงานเริ่มต้นจากต้นทางหรือต้นน้ำ คือ วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคบ้านนาน้ำคำ หมู่ที่ 9 ตำบลนาขมิ้น อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม เป็นการศึกษารูปแบบการเลี้ยงโคครบวงจรด้วยนวัตกรรมการใช้วัตถุดิบอาหารท้องถิ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้ออย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัมปนาท เภสัชชา และคณะ สังกัดคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม

.

จากนั้นเป็นการศึกษากลไกการแลกเปลี่ยนและการกระจายโคผ่านรูปแบบตลาดนัดโคกระบือที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในครั้งนี้ได้เข้าศึกษาดูงานตลาดนัดโคกระบือบ้านเชียงหวาง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร โดยเปิดให้บริการทุกวันอังคาร ตั้งอยู่ริมถนนหมายเลข 23 จากตัวเมืองยโสธรมุ่งหน้าจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งถือเป็นตลาดนัดโคกระบือที่เก่าแก่และขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

.

สำหรับกลางทาง หรือ กลางน้ำ เป็นการศึกษาดูงานเรื่องการแปรรูปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเชือดมาตรฐานสากลและมาตรฐานฮาลาล เป็นโรงเชือดที่สามารถบ่มและตัดแต่งเนื้อได้อย่างครบวงจร รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากเศษเหลือของโค โดยได้รับฟังบรรยายสรุปจาก รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย และอาจารย์ ดร.ปภังกร ส่างสวัสดิ์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนกลไกการขับเคลื่อนระบบการผลิตปศุสัตว์กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และท้ายที่สุดเป็นการศึกษาปลายทาง หรือ ปลายน้ำ การเลี้ยงโคของเกษตรกรคือ ระบบตลาดและการจัดจำหน่าย โดยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อาศัยกลไกการเชื่อมโยงตลาดยังไปประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยเฉพาะเส้นทางจาก สปป.ลาว ถือเป็นเส้นทางสายไหมที่สามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดประเทศจีนต่อไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์อาเซียนศึกษาถือเป็นหน่วยขับเคลื่อนที่ทรงพลังในการเชื่อมโยงมิติการต่างประเทศของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยสร้างเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ผ่านกลไกการจัดเวทีเจรจาธุรกิจและการศึกษาดูงานทางธุรกิจระหว่างประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการในการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ภายใต้การนำของ ดร.รองรัตน์ วิโรจน์เพชร ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

.

ดังนั้นการศึกษาดูงานในครั้งถือเป็นการสร้างบทเรียนใหม่ในการพัฒนาระบบปศุสัตว์ให้กับคณะทำงานจากภาคใต้ชายแดนที่สามารถเข้าใจตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ผ่านการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จจากภาคตะวันออกเฉียงที่ถือว่าเป็นมีความเข้มแข็งในการทำปศุสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อ "

.

นอกจากนี้ ที่จังหวัดขอนแก่น ณ โรงแรมราชาวดี รีสอร์ต แอนด์ โฮเทล อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีคุณเข็มชาติ สมใจวงษ์ เจ้าของธุรกิจโรงแรมราชาวดี รีสอร์ต แอนด์ โฮเทล อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และคุณสมสัก วิไลทอน กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำจังหวัดขอนแก่น ราชอาณาจักรไทย เป็นประธานต้อนรับคณะศึกษาดูงาน ทั้งนี้ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึง “สภาพปัจจุบันด้านการปศุสัตว์และการค้าในภูมิภาคอินโดจีนว่าพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานแถบทั้งหมดมีศักยภาพสูงในด้านการพัฒนาการปศุสัตว์และการค้าซึ่งดำเนินไปอย่างรุดหน้าพอสมควรแล้ว แต่ยังมีสิ่งที่มีความบกพร่องคือศักยภาพของร้านอาหารหรือโรงแรมที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล (Halal Food) เพื่อรองรับธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวสำหรับพี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลกที่จะต้องเดินทางมาท่องเที่ยวในแถบจังหวัดขอนแก่นหรือภาคอีสานทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล (Halal Food) สำหรับพี่น้องชาวมุสลิมจากทุกมุมโลกได้มาท่องเที่ยวในภาคอีสานต่อไป ” และในการนี้กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำจังหวัดขอนแก่น ราชอาณาจักรไทย ได้กล่าวถึง “เส้นทางของการปศุสัตว์และการค้าในภูมิภาคอินโดจีน โดยเฉพาะในประเทศลาว ซึ่งมีการดำเนินการได้เป็นบางส่วน แต่ยังขาดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการปศุสัตว์และการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตร หรือสินค้าโอทอปทางประเทศลาวมีการจัดทำเป็นบางส่วน เพราะพื้นที่ประเทศลาวมีทรัพยากรทางการเกษตรเป็นจำนวนมากที่จะสามารถนำมาสร้างสรรค์หรือแปรรูปเป็นสินค้าที่มีคุณค่าด้านการเกษตรเป็นอย่างดียิ่ง ทางประเทศลาวจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสร้างเครือข่ายเส้นทางของการปศุสัตว์และการค้าในภูมิภาคอินโดจีนกับพี่น้องภาคใต้ชายแดนเพื่อการสร้างสรรค์เศรษฐกิจด้านการค้าและการลงทุนให้ดำเนินไปอย่างรุดหน้าเพื่อให้พี่น้องทั้งสองประเทศได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายทางการค้าและการปศุสัตว์เป็นลำดับต่อไป”

.

ซึ่งจากการศึกษาดูงานและประชุมสัมมนาดังกล่าว ทำให้คณะทำงานและผู้ประกอบการเห็นโอกาสและช่องทางที่จะดำเนินการตาม “เส้นทางปศุสัตว์เชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีนและภาคใต้ชายแดน ภายใต้โครงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและสร้างความเป็นอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ภาคใต้ชายแดน” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการเป็นลำดับต่อไป

.

#เซาท์ไทม