คิดก่อนกา!! วิเคราะห์ฉากทัศน์ ‘ทิศทางประเทศไทย’ ภายใต้ขั้วรัฐบาล ‘อนุรักษ์นิยม vs เสรีนิยม’

นับถอยหลังจากนี้เหลือเวลาเพียงไม่อีกกี่วันก็จะถึง "การเลือกตั้งปี 2566" ที่จะมีขึ้นวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ขณะที่มีการประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจะตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างคึกคัก มากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562  

ทั้งนี้ เห็นได้จากการเลือกตั้งนอกเขตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนกว่า 2 ล้านคน และมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กว่า 90%

ขณะที่ ในสนามการเลือกตั้งต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยในภาพใหญ่เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 ขั้วที่เรียกว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือ พรรคฟากรัฐบาล ที่นำโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับฝ่ายเสรีนิยม หรือ ฟากฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

เมื่อดูตามผลโพลของสำนักต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ พบว่าฝ่ายเสรีนิยมมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกระแสความนิยมในตัวนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ที่มีคะแนนนิยมพุ่งอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันฝ่ายเสรีนิยม 2 พรรคที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้รับความนิยมรวมกันมากถึง 68-84%

แต่ทว่า การจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพราะพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 อาจไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ ซึ่งได้ปรากฏให้เห็นแล้วเมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา 
.
ส่วนการฉากทัศน์หลังการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองประเทศไทยอย่างไร หากพรรคอย่างกระแสแรงอย่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

หากว่ากันตามระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้พรรคมีคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นไปได้ที่ พรรคเพื่อไทย จะได้เป็นรัฐบาล แต่จากการประเมินกระแสล่าสุด แม้ว่า เพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงเยอะที่สุด แต่ก็ยังไม่ถึงกับแลนด์สไลด์ตามเป้า 

ดังนั้น หากเพื่อไทย อยากเป็นรัฐบาล ต้องได้ ส.ส. 376 ขึ้นไป จึงจำเป็นต้องไปดึงพันธมิตรฝ่ายที่คุยกันรู้เรื่องมาก่อน ซึ่งก็น่าจะเป็น ‘ก้าวไกล’ เพราะอย่างน้อยเคยร่วมเป็นฝ่ายค้านมาถึง 4 ปี และถือว่าอยู่ในขั้วเสรีนิยมด้วยกัน รวมถึงพรรคเล็ก ๆ ในฝั่งเดียวกัน แต่หากเสียงยังไม่พอ อาจต้องถึงพรรคต่างขั้วมาร่วม เพราะมีพรรคที่พร้อมเข้าร่วมแต่ขอให้ได้เป็นรัฐบาล

ถ้าเสียงยังไม่พอ อาจจะต้องพึ่งเสียง ส.ว.มาเพิ่มอีก เพื่อรวมเสียงทั้งหมดให้ได้ 376 ขึ้นไป แต่อย่างไรก็ดี หากเพื่อไทยได้เก้าอี้ ส.ส. ไม่เยอะจริง อาจจะถูกต่อรองเก้าอี้กระทรวงสำคัญ ไปถึงขั้นเก้าอี้ ‘นายกรัฐมนตรี’ และเป็นไปได้ที่เพื่อไทยอาจจะยอม เพราะต้องการเป็นรัฐบาลไว้ก่อน เนื่องจากห่างหายมานาน และยังมีเรื่องสำคัญคือ การพา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้คือความหวังและอาจจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของทักษิณ หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

ท้ายที่สุด ถ้าเพื่อไทย - ก้าวไกล และพรรคร่วมสามารถตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ในแง่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจจะทำได้ทันที ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน อาจจะเกิดเหตุชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก จากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามบ้างในช่วงแรกของการเป็นรัฐบาล 

แต่ในกรณีที่ฝั่งอนุรักษ์นิยม นำโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมรวมเสียงกันได้เกิน 126 เสียง บวกกับ ส.ว.อีก 250 เสียง จัดตั้งรัฐบาลเหมือนเมื่อครั้งปี 2562 ในกรณีนี้ มีความเป็นไปได้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้เป็นนายกฯ ต่อไป เพราะมีแต้มต่ออยู่ที่ ส.ว. เพียงแต่มีเงื่อนไขพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องได้ ส.ส. 25 เสียงขึ้นไป

ถ้าโฉมหน้าการเมืองหลังเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ในแง่การบริหารราชการแผ่นดินคงไม่ต่างไปจากเดิม แต่จะเกิดการต่อรองทางการเมืองสูง และเสถียรภาพของรัฐบาลจะไม่มั่นคง เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย การผลักดันกฎหมายจะทำได้ยาก มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบ 4 ปี แม้ว่าจะหลังจากตั้งรัฐบาลเสร็จ จะมี ส.ส.ย้ายพรรคมาร่วมด้วยก็ตาม 

และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า พลเอกประยุทธ์ จะเหลือวาระการดำรงตำแหน่งอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ยกเว้นจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อครบวาระแล้ว หลังจากนั้นจะให้ใครขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ แทน ตรงนี้อาจจะต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

แน่นอนว่า รัฐบาลจะมีความเปราะบางสูง เป็นต้นว่า หาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไม่ผ่าน ก็ความเสี่ยงที่จะต้องยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีความเสี่ยงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจสูง นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เพราะภาพความเป็นผู้นำที่มีความเด็ดขาดของพลเอกประยุทธ์ เชื่อว่าจะไม่ยอมเจรจากับฝ่ายใดง่าย ๆ และหากเกิดภาพเช่นนี้จริง จะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว

แต่หากฝ่ายอนุรักษ์นิยม มองว่า พลเอกประยุทธ์ เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี ไม่เหมาะนั่งนายกฯต่อ หันมาสนับสนุนให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทน ก็จะเป็นการวนไปสู่ภาพของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ แต่จะต่างกันที่ในครั้งนี้ฐานเสียงไม่แน่นเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะอดีต ส.ส. จำนวนหนึ่งได้ย้ายออกไปสังกัดพรรคอื่นแล้ว 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การต่อรองทางการเมืองที่สูงมาก เสถียรภาพรัฐบาลไม่มั่นคง และอาจจะมีการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองตามมา แต่ความรุนแรงอาจจะแตกต่างกัน เพราะด้วยบุคลิกของพลเอกประวิตร ที่มีความประนีประนอมมากกว่านั่นเอง  

แต่อย่างไรก็ตาม ผลสรุปของการเมืองหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ และโฉมหน้ารัฐบาลจะออกมาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหน้าใหม่ หรือหน้าเก่า อำนาจส่วนหนึ่งอยู่ที่ปลายปากกาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่จะเป็นส่วนสำคัญร่วมกำหนดทิศทางของประเทศ