Friday, 19 April 2024
พัทลุง

ซับน้ำตาชาวลุง!! จิตอาสา ‘อู่ชา เขาชัยสน’ เร่งรุดช่วยชาวบ้าน หลังถนนเข้าออกถูกตัดขาดจากภัยน้ำท่วม

(20 ธ.ค.65) จากสถานการณ์ฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงนั้น ล่าสุดจังหวัดพัทลุง โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดพัทลุง ประกาศพื้นที่เขตภัยพิบัติอุทกภัยแล้ว 9 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอป่าบอน, อำเภอกงหรา, อำเภอตะโหมด, อำเภอบางแก้ว, อำเภอเขาชัยสน, อำเภอเมือง, อำเภอศรีนครินทร์, อำเภอปากพะยูน และ อำเภอควนขนุน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 ราย

ซึ่งพื้นที่ที่มีน้ำท่วมหนักเป็นพื้นที่ริมทะเลสาบใน อ.เขาชัยสน, อ.บางแก้ว และ อ.ปากพะยูน โดยเฉพาะบ้านโคกขาม อ.ขาชัยสน ปีนี้ถือว่าวิกฤตน้ำท่วมหนัก ทำให้เส้นทางเข้าออกถูกตัดขาด ชาวบ้านไม่สามารถออกไปซื้อหาอาหารได้ ทางกลุ่มจิตอาสา นำโดย 'อู่ชา เขาชัยสน' พร้อมทีมงานได้ทำข้าวกล่อง ลุยน้ำกลางดึกส่งให้ทุกครัวเรือน

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง หนุนเกษตรกรสกัดโรคในข้าวอินทรีย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ส่งเสริมสนับสนุน ดูแลเกษตรกรจัดการโรคข้าว โดยใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus amyloliquefaciens ป้องกันโรคข้าวที่สำคัญในสภาพแปลงนา จ.พัทลุง

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.65 นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกข้าวของเกษตรกรชาว จ.พัทลุง เป็นอย่างมาก โดยมุ่งเน้นการตลาดนำการผลิต ปลูกข้าวต้องมีแหล่งจำหน่ายเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ และเรื่องคุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญกับการปลูกข้าว ซึ่งได้ดำเนินการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเรื่องการใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียปฏิปักษ์ Bacillus amyloliquefaciens ป้องกันโรคข้าวที่สำคัญในสภาพแปลงนา จ.พัทลุง

ซึ่งหากโรคข้าวเข้าทำลายจะสร้างความเสียหาย ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง หากระบาดรุนแรงผลผลิตจะลดลงมากโดยเฉพาะโรคไหม้, โรคขอบใบแห้ง, โรคเมล็ดด่าง, โรคถอดฝักดาบ และโรคใบจุดสีน้ำตาล

สำหรับแนวทางป้องกันการเกิดโรคเพื่อไม่ให้มีการระบาดรุนแรงต้องมีการจัดการแบบผสมผสาน ซึ่งแนวทางการใช้แบคทีเรียปฏิปักษ์ ลดการใช้สารป้องกันกำจัดโรคข้าว เป็นทางเลือกที่ป้องกันกำจัดโรคข้าวในกลุ่มเกษตรกรที่ลดการใช้สารเคมี หรือเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งเริ่มด้วยการแช่หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ ป้องกันโรคจากเชื้อราสา เหตุโรคโดยเฉพาะโรคถอดฝักดาบ และโรคอื่น ๆ การฉีดพ่นป้องกันการเกิดโรคในระยะข้าวต่าง ๆ 4 ระยะ อัตรา การใช้ชีวภัณฑ์ 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พื้นที่ 1 ไร่ ในระยะต่าง ๆ และฉีดพ่นเพิ่มเพื่อป้องกันในสภาพที่เสี่ยง

เร่งออกตามหาชาวมันนิ 2 คน หายตัวไปอย่างลึกลับ ที่พัทลุง ขณะออกล่าสัตว์เมื่อ 7 วันที่ผ่านมา

ปลัดจังหวัด และนายอำเภอกงหรานำผู้นำท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง และ จนท.ออกตามหาชาวมันนิ 2 คนที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะออกล่าสัตว์เมื่อ 7 วันที่ผ่านมา

วันนี้ (5 ธ.ค. 2566) ผู้สื่อข่าว จังหวัดพัทลุง รายงานว่า ที่จุดบริการนักท่องเที่ยว น้ำตกไพรวัลย์ ท้องที่ หมู่ 3 ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง ปลัดจังหวัดพัทลุง, นายสมควร ปล้องอ่อน นายอำเภอกงหรา, นายวินัย ยาชะรัด กำนันตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา, ผู้นำท้องถิ่น, ฝ่ายปกครอง, เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง, เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิพัทลุงการกุศล และ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเทือกเขาบรรทัด, พรานป่า, กลุ่มมันนิ และกลุ่มชาวบ้าน ประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันประชุมวางแผนในการเดินเท้าไปยังเขาเหลิม บริเวณเทือกเขาบรรทัด ท้องที่หมู่ 5 ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา ซึ่งอยู่ห่างจากน้ำตกไพรวัลย์ประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อติดตามชาวมันนิ 2 ราย ที่ได้หายตัวไปอย่างลึกลับขณะออกล่าสัตว์มาดำรงชีตามประสาชาวมันนิเป็นเวลา 7 วันแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.วันที่ 4 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา นายส่อแหละ โสดสลาม สมาชิกสภาเทศบาลตำบลคลองทรายขาว อ.กงหรา ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของกลุ่มมันนิ และผู้ใกล้ชิดกับกลุ่มมันนิ ได้นำนายบัด รักษ์กงหรา อายุ 24 ปี ชาวมันนิ อยู่บ้านเลขที่ 140 หมู่ที่ 1 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.อ.ณรงค์ ฮกปาน รอง สว.(สอบสวน) สภ.กงหรา เพื่อขอให้ทางอำเภอ ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น จนท.หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และ จนท.ป่าไม้ ได้ช่วยตามหาตัว นายแว้ง รักษ์กงหรา อายุ 18 ปี ผู้เป็นน้องชาย และนายทง รักษ์กงหรา อายุ 38 ปี ผู้เป็นพี่ชาย (ทั้ง 3 คนอยู่บ้านเลขที่เดียวกัน)

ปภ.พัทลุงเตือนชาวประมงออกหาปลาในทะเลสาบสงขลา ระวังคลื่นลมแรงช่วงมรสุมนี้

(พัทลุง) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประกาศฉบับที่ 8 (19/2566) เรื่อง ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 30 มกราคม 2566) เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ยังคงมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ดังนี้

ช่วงวันที่ 25-26 มกราคม 2566 มีฝนหนักบางแห่งบริเวณ จังหวัดชุมพร, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดพัทลุง, จังหวัดสงขลา, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

ช่วงวันที่ 27-30 มกราคม 2566 มีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดพัทลุง, จังหวัดสงขลา, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสม

มังคุดปรังพัทลุง เกษตรกรทำออกนอกฤดู ราคากก.เกือบ 200 บาท เผย ปีนี้ได้ผลผลิตน้อย

'มังคุดนอกฤดู' หรือ 'มังคุดปรัง' เกษตรกรปลูกในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง ราคาพุ่งสูงถึง 100-140 บาทต่อ กก. ไซซ์ใหญ่ 8 ผลต่อ กก. ขายกันที่ 180 บาท แต่ผลผลิตมีน้อยได้ผลเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 นายกฤษฎา ลำปัง ประธานกลุ่มเกษตรมังคุดแปลงใหญ่ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า มังคุดนอกฤดูกาลหรือมังคุดปรัง ได้ทยอยออกมาประมาณ 1 เดือนแล้ว โดยบางสวนไม่มีผลผลิต บางสวนมีผลผลิต บางต้นเก็บได้ 4-5 ลูก ทั้งได้ขนาดและไม่ได้ขนาด บางต้นมีมากกว่า 10 ลูก ซึ่งภาพรวมในปีนี้ มีผลผลิตได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ที่สวนของตน มีพ่อค้าแม่ค้าที่จะมารับซื้อถึงสวน โดยราคาซื้อขายตามขนาดและคุณภาพของมังคุด ขั้นแรกประมาณ 100-140 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคาของมังคุดในฤดูกาลปกติมีราคาซื้อขายประมาณ 20-35 บาท

'รพ.ปากพะยูน' จัดโครงการผ่าตัดตาต้อกระจก มอบแสงแรกแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสายตา

(พัทลุง) เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 66 ที่ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรปากพะยูน จำกัด อำเภอปากพะยูน ดร.นาที  รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดตาแสงแรกแก่ผู้เข้ารับบริการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งทางโรงพยาบาลปากพะยูน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุงได้จัดขึ้น โดยมีนายแพทย์ดุษฏี คงตระกูลทรัพย์, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง และคณะให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลปากพะยูน ได้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ ให้เต็มศักยภาพของโรงพยาบาล ด้วยโรงพยาบาลไม่มีแพทย์เฉพาะทาง แต่ก็ได้ให้ความสำคัญกับผู้มารับบริการ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก จึงได้จัดทำโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกอำเภอปากพะยูนขึ้น พร้อมทั้งจัดพิธีเปิดตาแสงแรกแก่ผู้เข้ารับบริการผ่าตัดต้อกระจกดังกล่าว

เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาตาต้อกระจก ที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปรักษายังโรงพยาบาลประจำจังหวัด และอาจต้องใช้เวลาในการรอคิวผ่าตัดนาน รวมทั้งการลดภาวะตาบอดในกลุ่มเสี่ยงตาบอดจากต้อกระจกให้ได้รับการผ่าตัดโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ดังนั้น โรงพยาบาลปากพะยูนจึงได้จัดให้มีโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกอำเภอปากพะยูนขึ้น ในระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2566 และในโอกาสนี้ ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้มอบแว่นตาให้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการดังกล่าวด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีผู้เข้ารับการบริการเป็นจำนวนมาก


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. South Time Thailand
Take Me Top