Thursday, 18 April 2024
สินค้าGI

'พาณิชย์ฯ' ขึ้นทะเบียน GI 'ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา' ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า เปิดโอกาสส่งออกสู่ตลาดสากล

(ยะลา) นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน 'ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา' เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดยะลา โดยมั่นใจว่าด้วยรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จะช่วยให้ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค และส่งผลดีต่อการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย ซึ่งสอดรับกับนโยบายสร้างความเข้มเเข็งเศรษฐกิจชุมชนไทย กระจายรายได้สู่เกษตรกรรายย่อยที่กระทรวงพาณิชย์ผลักดัน

สำหรับทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่โดดเด่น หวานมัน เนื้อเเห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีกลิ่นเฉพาะตัว และเนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว, พันธุ์ชะนี, พันธุ์พวงมณี, พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำหรือโอฉี่ ปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งเเต่ 100 เมตรขึ้นไป ตามไหล่เขา สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ของทุกปี ผนวกกับความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ จึงทำให้ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา เป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญของจังหวัดยะลา ถัดจาก 'กล้วยหินบันนังสตา' ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้

โดยก่อนหน้านี้ทางจังหวัดยะลา พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และเครือข่ายเกษตรกร ได้ร่วมกันกำหนด 1 ในยุทธศาสตร์จังหวัดยะลา คือยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) กำหนดเป้าหมายให้จังหวัดยะลา เป็นเมืองทุเรียนแห่งภาคใต้ตอนล่าง โดยมีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตทุเรียนแบบครบวงจร

ซึ่งจังหวัดยะลา เป็นแหล่งปลูกทุเรียน และมีปริมาณผลผลิตมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีคุณภาพ ในปี 2563 มีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 73,890 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 53,621 ไร่ ครัวเรือนผู้ปลูก 25,326 ครัวเรือน ผลผลิตรวม 53,031 ตัน โดยเนื้อที่ปลูกกระจายทั่วทุกพื้นที่ ลักษณะการปลูกข้างบ้าน สวนผสม และปลูกร่วมพืชอื่น ๆ


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. South Time Thailand
Take Me Top