Tuesday, 30 April 2024
เศรษฐกิจไทย

นายกฯ เคาะแผนลงทุนอุตสาหกรรมระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เห็นชอบการกำหนดกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 4 ภาค โดยกำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเป็นการเฉพาะและเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ 

โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตามแนวทางที่ กพศ. ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยมีพื้นที่และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้

(1) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 
1) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 
2) อุตสาหกรรมดิจิทัล
3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) 
และ 4) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 

(2) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 
1) อุตสาหกรรมชีวภาพ 
และ 2) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 

(3) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor : CWEC) ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 
1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 
และ 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

(4) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 
1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 
2) อุตสาหกรรมชีวภาพ 
และ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) 

เศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่องหลังคลายล็อกโควิด "หอการค้าไทย' คาด ปีใหม่เงินสะพัดแสนล้านบาท!!

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 47.9 เป็นผลมาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5

ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกมาจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโควิด 19 รวมถึงนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผ่อนคลายมากขึ้น โดยมีการปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 โดยเศรษฐกิจที่ขยายตัวมาจากแนวโน้มการบริโภคของภาคเอกชนที่มากขึ้น การลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

“เลิศศักดิ์” ตอกย้ำ “เพื่อไทย” เน้นเรื่องการกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดที่พร้อม อีกทั้งกระจายรายได้ให้ท้องถิ่น

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลสะทือนจาการแสดงวิสัยทัศน์ของคุณแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และประธานพรรคเพื่อไทย ภายใต้สโลแกนใหม่ 'คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน' ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25000 บาท ต่อมาผู้บริหารของพรรคหลายท่านได้ชี้แจงเหตุผลยืนยันความมั่นใจว่าทุกนโยบายเกิดขึ้นได้จริงภายในปี 2570 ไปแล้วนั้น

จากความล้มเหลวของการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 8 ปีต่อเนื่องของรัฐบาลคสช และรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ ประยุทธ์ มีปัญหาทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจ 8 ปี ที่โตเฉลี่ยเพียงแค่ 1% กว่า ขณะที่ในสิ้นปี 2565 ธนาคารโลกคาดว่า จีดีพีของไทยจะอยู่ที่ 3.1% ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็เผชิญกับวิกฤตการโควิดเช่นเดียวกับไทยกลับจะเติบโตสูงถึง 7.2% ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ และความมั่งคั่งที่ถ่างกว้างขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ จากที่คนไทยสัดส่วนกว่า 31% อยู่ในภาคการเกษตร และในด้านโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ผมมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยได้วิเคาะห์ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และมองเห็นโอกาสจากจุดแข็งของประเทศไทยที่ยังคงแข็งแกร่งไม่เป็นรองใครในภูมิภาค

ทั้งด้านการเกษตร การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม และการท่องเที่ยว พรรคเพื่อไทยมีวิสัยทัศน์มองเห็นอนาคตประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากได้เป็นรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายที่ได้ประกาศไว้จึงมั่นใจว่าจีดีพีจะต้องเติบโตปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ทุกปีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ยืนยันว่าค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทในอนาคตนั้นจะเกิดขึ้นได้แน่นอน

รัฐบาล อวดภาพรวม นโยบายแก้หนี้ครัวเรือน ยัน เดินหน้าต่อ เพื่อ ศก.ภาพรวม

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการ “ปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้” ภายใต้นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ทุกส่วนราชการ สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน ร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างจริงจังนั้น ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2565 เหลือ 88.2%  ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 89.1% และไตรมาส 4 ปี 2564 ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90% โดยหนี้ครัวเรือน 4 อันดับแรกยังคงเป็น 1.) เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของหนี้ครัวเรือนรวม 2.) เงินกู้เพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลสัดส่วนร้อยละ 28.0 ของหนี้ครัวเรือนรวม 3.) เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 18.2 ของหนี้ครัวเรือนรวม และ 4.) เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/ รถจักรยานยนต์ สัดส่วนร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนรวม

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่

1.) การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จากรายปีเป็นรายเดือน ชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี  ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงตัดดอกเบี้ย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้น

2.) การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น

3.) การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครู ยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ของครูในอนาคต เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงและสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5

4.) หนี้สินข้าราชการตำรวจ การขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 พักชำระหนี้เงินต้น ปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

5.) การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ กระทรวงการคลังปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance เหลือร้อยละ 33 จากร้อยละ 36 ธปท. สนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้

และ 6.) การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เน้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ โดยประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. South Time Thailand
Take Me Top